ผลประเมินโครงงานยุววิจัยยางพาราปี 2555 : กลุ่มที่ 2 เห็ด กับ ยางพารา ( 9 เรื่อง )

กล่าวนำ

จากการอ่านข้อเสนอโครงงานยุววิจัยยางพารา ปี 2555 เรื่องเห็ด กับ ยางพารา จำนวน 9 เรื่อง พบว่า ส่วนใหญ่ ใช้ “ขี้เลื่อยยางพารา” หรือ “ใบยางพารา” เป็นวัสดุเพาะเห็ด อันเป็นปัจจัยส่งผลต่อ “ผลผลิตเห็ด” และ “ต้นทุน”

คู่แข่งที่ต้องรู้ คือ “วัสดุเพาะเดิม” ที่ต้องวิเคราะห์เปรียบเทียบในด้าน ปริมาณสารอาหารต่อปริมาตร, ราคาต่อปริมาตร เพราะว่า ปริมาตรมีผลต่อผลผลิตเห็ด เนื่องจากหม้อหนึ่งเห็ดเป็นคอขวดของการผลิตแต่ละครั้ง วัสดุที่มีสารอาหารมากจะมีปริมาตรน้อยกว่า ทำให้ได้เปรียบกว่าในแง่การผลิต

ความเป็นเหตุ เป็นผล ที่ต้องวิเคราะห์ให้เห็นชัดเจน ว่า สิ่งนั้น เป็นเหตุ ให้เกิดสิ่งนี้ จริงหรือไม่  หากไม่จริง เช่น เห็ด ทำให้ต้นยางเจริญเติบโต  จะทำให้เราเสียเวลา เสียแรงงาน และเสียเงิน โดยไม่ก่อประโยชน์ใด ๆ

โครงงานส่วนใหญ่ สืบค้นความรู้ทั่วไป ยังขาดความรู้เชิงวิชาการ  ที่บ่งบอกลงไปถึงนิสัยของเห็ด และการเพาะ มีเพียงโครงการเดียวที่นำผลงานวิจัยของผู้อื่นมาต่อยอด ซึ่งจะทำให้เชื่อว่า โครงงานนี้น่าจะได้ความรู้ลึกกว่าโครงงานอื่น

ถ้าได้อ่านแนวคิดของการทำโครงงานทั้ง 10 เรื่อง จะทำให้คิดออก คิดขยาย คิดลึก และคิดได้รอบด้าน มากขึ้น

นี่คือ กระบวนการเรียนรู้สำหรับเยาวชนไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคิด

ไพโรจน์ คีรีรัตน์

ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่

15 กรกฎาคม 2555

//////////////////////////////

1. การศึกษาการเพาะเห็ดนางฟ้า ด้วยใบยางพารา และฟางข้าว (PJR038)

ครูที่ปรึกษา นาง จารุณี ศรีสวัสดิ์

โรงเรียน น้ำยืนวิทยา จ.อุบลราชธานี

วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาเปรียบเทียบคุณสมบัติของใบยางพาราและฟางข้าวในการเพาะเห็ดนางฟ้าแทนขี้เลื่อยยางพาราเพื่อลดต้นทุนในการเพาะเห็ดของเกษตรกร และเป็นการนำวัสดุในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างรายได้

วิเคราะห์

ผู้วิจัยบอกว่า ขี้เลื่อยไม้ยางพารามีคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นแหล่งอาการที่ดีของเห็ดนาฟ้า แต่ราคาสูง จึงสนใจจะนำใบยางพาราและฟางข้าวมาใช้ทดแทน จึงออกแบบการทดลองใช้ ขี้เลื่อย (100 กก.) เปรียบเทียบกับ ใบยางพารา (50 กก.) + ฟางข้าว (50 กก)  ผสมกับวัสดุอื่น รำ (6 กก) + โดโลไมด์ (1 กก) + ดีเกลือ (0.2 กก) + ยิปซัม ( 0.5 กก) +น้ำตาลทราย (1 กก) + น้ำ นำไปเพาะเห็ดนาฟ้า แล้วดูผล

คำตอบที่ได้ คือ วัสดุผสมชนิดใด ให้ผลผลิตมากที่สุด แต่ยังไม่ใช่สูตรที่ดีที่สุด

การหาสูตรที่ดี ต้องคำนึงถึงปริมาณและราคาของวัสดุใบยางพาราและฟางข้าว ซึ่งรวมถึงการรวบรวมและการแปรรูปเป็นชิ้นเล็ก ขนาดใกล้เคียงกับขี้เลื่อย ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการเลื่อยไม่ทำเฟอร์นิเจอร์ เมื่อใดมีการเปลี่ยนสวนยางก็จะมีขี้เลื่อย

ควรจะเปรียบเทียบราคา ในการรวบรวมและแปรรูปเป็นวัสดุเพาะ ที่ได้สารอาหารเทียบเท่ากับขี้เลื่อย หากมีสารอาหารน้อยกว่า ก็จะทำให้ต้องใช้ปริมาณมากขึ้น ส่งผลต่อขนาดของก้อนเพาะเชื้อ

คำถามแรก ทำไมจึงเลือกศึกษาเห็ดนาฟ้า มันมีความสำคัญต่อผู้ทำหรือ ท้องถิ่นอย่างไร หากเป็นเห็ดฟาง/หรือเห็ดอื่น จะดีกว่าหรือไม่

สรุป แนะนำให้ปรับปรุงข้อเสนอโครงงานตามความเห็นข้างต้น  และส่งข้อเสนอโครงงานที่แก้ไขภายในวันที่ 27 กค. 2555

———————————————————————————

2. ชนิดของเห็ดที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นยางพารา (PJR127)

ครูที่ปรึกษา นายธนภณ อุ่นวิเศษ

โรงเรียน ชุมพลโพนพิสัย จ.หนองคาย

วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาชนิดของเห็ดที่เกิดในส่วนยางพารามีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นยางพารา

วิเคราะห์

ผู้วิจัยคิดว่า “เห็ด” เป็นปัจจัยต่อ “การเจิญเติบโตของต้นยาง” จึงสนใจสำรวจเห็ดในสนยาง เป็นวิธีคิดที่สาวไม่ถึงสาเหตุหรือคิดในมุมกลับ ว่าการเจริญเติบโตของพืช ไม่ว่าเห็ด หรือ ต้นยาง มาจากปัจจัยใด แล้วเห็ด กับ ต้นยาง จะมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

สรุป แนะนำให้เปลี่ยนไปทำเรื่องอื่น   และส่งข้อเสนอโครงงานใหม่ ในวันที่ 27 กค. 2555

——————————————————————–

3. การศึกษาการจัดการสวนยางพาราเพื่อเพิ่มการเกิดเห็ดแครงโดยวิธีธรรมชาติ (PJR151)

ครูที่ปรึกษา นางสาวพรรณพิไล เกษีสม

โรงเรียน ลำทับประชานุเคราะห์ จ.กระบี่

วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาปัจจัยทางธรรมชาติที่เหมาะสมในการเกิดของเห็ดแครง

2. เพื่อศึกษาการจัดการสวนยางพาราเพื่อเพิ่มปริมาณการเกิดเห็ดแครง

วิเคราะห์

ผู้วิจัยเชื่อว่า “จัดการสวนยาง” จะเป็นปัจจัยให้เกิด “เห็ดแครง” ซึ่งเข้าใจผิด เพราะ ขอนไม้ยางพารา ความชื้น สปอร์เห็ด และอุณหภูมิ เป็นปัจจัยให้เกิดเห็ดแครง ไม่ใช่การจัดการสวนยางพารา

มีข้อมูลการเพาะเห็ดแครงอยู่พอสมควร ของโรงเรียนในภาคใต้ ควรสืบคนและ review ผลงานเพื่อหาช่องว่างหรือความรู้ที่ยังไม่มี  เช่น วิธีเพาะเห็ดแครงที่ได้ผลลิตสูง โดยควบคุมปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดเห็ดแครงในโรงเพาะ ไม่ใช่ให้เกิดเองตามธรรมชาติ ซึ่งควบคุมอะไรไม่ได้

สรุป แนะนำให้ปรับแก้ข้อเสนอโครงงานตามความเห็นข้างต้น  และส่งข้อเสนอโครงงานที่แก้ไขภายในวันที่ 27 กค. 2555

——————————————————————–

 4. การเพาะเลี้ยงเห็ดห้า (Thaeogyroporus porentosus (berk. ET. Broome) ในกล้ายางพาราเพื่อเร่งการเจริญเติบโต (PJR163)

ครูที่ปรึกษา นางคุณากร จิตตางกูร

โรงเรียน จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย จ.เชียงราย

วัตถุประสงค์

1. เพื่อทดลองเพาะเชื้อเห็ดห้า (Thaeogyroporus porentosus (berk. ET. Broome) ในต้นกล้ายางพาราโดยวิธีใช้ดินเชื้อ (soil inoculums)

2. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบอัตราการเจริญเติบโตของกล้ายางพาราที่เพาะเลี้ยงในดินเชื้อ กับกล้ายางพาราที่เพาะในดินปลูกธรรมดา

วิเคราะห์

ผู้วิจัยเชื่อว่า “ราไมคอร์ไรซ่า” ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีบนเห็ดห้าหรือเห็ดตับเต่า ช่วยป้องกันเชื้อโรคของระบบรากพืช (แต่ไม่ได้บอกว่าเชื้อโรคอะไร เป้าหมายไม่ชัดเจน)

จึงทดลองใช้ดินที่มีเชื้อเห็ดตับเต่าในการเพาะกล้ายางเพื่อวัดการเจริญเติบโตของต้นยาง (ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเป้าหมายตรง คือ รากยางติดเชื้อ) โดยใช้ต้นยาง 10 ต้น จำนวน 2 กลุ่มทดลอง เพื่อเปรียบเทียบระบบราก ระหว่างดินทีมีเชื้อเห็ด (บดเห็ดแก่ผสมกับดิน)  กับ ดินปกติ  ซึ่งได้ผลก็ตอบคำถามอะไรไม่ได้

ดินที่มีเห็ดผสม จะมีราคาสูงกว่าดินปกติ (เพราะคู่แข่ง คือ การเป็นอาหาร)  และไม่เหมาะสมมาใช้แทนปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโต

การทดลองไม่ได้มุ่งไปศึกษาการป้องกันเชื้อโรค ซึ่งต้องอาศัยการพิสูจน์ผลจาก Lab เพื่อยืนยันผล

สรุป แนะนำให้ปรับปรุงข้อเสนอโครงงานตามความเห็นข้างต้น  และส่งข้อเสนอโครงงานที่แก้ไขภายในวันที่ 27 กค. 2555

——————————————————————

5. การศึกษาการเพาะเห็ดฮังการีด้วยสูตรอาหารจากขี้เลื่อยยางพาราและวัสดุทางเกษตรที่ต่างกัน (PJR178)

ครูที่ปรึกษา นางสาวฐิติกาญจน์ มุ่งเบียดกลาง

โรงเรียน จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จ.ปทุมธานี

วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตของเห็ดฮังการีที่ใช้สูตรอาหารเสริมที่แตกต่างกัน

2. เพื่อศึกษาความแตกต่างกันของสูตรแต่ละสูตรต่อเห็ดฮังการี

วิเคราะห์

ขี้เลื่อยยางพารามีราคาสูง จึงสนใจจะหาวัสดุอื่นในท้องถิ่นมาใช้แทน เช่น ฟางข้าว ใบกระถิ่นป่า จึงออกสูตรต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบด้วยการทดลองปลูกเห็ดฮังการี

คำถาม คือ ทำไมต้องเป็นเห็ดฮังการี มันมีความหมายต่อผู้ทำ โรงเรียน หรือท้องถิ่นอย่างไร

ทำไมเลือกฟางข้าว ใบกระถิ่นป่า เป็นวัสดุทดแทน มันมีสารอาหารใกล้เคียงกับขี้เลื่อยหรือไม่ อย่างไร และในพื้นที่มีวัสดุที่เลือกในปริมาณมากน้อยขนาดใด เพียงพอนำสำหรับมาให้ผู้เพาะเห็ดฮังกรีหรือไม่

สารอาหารในวัสดุเพาะมีผลต่อปริมาณวัสดุที่ใช้ ซึ่งส่งผลต่อผลผลิต หากระบบรากไม่สามารถเจริญได้เต็มปริมาตรของวัสดุเพาะ

 สรุป แนะนำให้ปรับปรุงข้อเสนอโครงงานตามความเห็นข้างต้น  และส่งข้อเสนอโครงงานที่แก้ไขภายในวันที่ 27 กค. 2555

——————————————————————–

 6. ปลวกเพาะเลี้ยงเห็ดโคนในสวนยางพารา อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม (PJR186)

ครูที่ปรึกษา  นางภาวิณี  สุพลแสง

โรงเรียน สหราษฎร์รังสฤษดิ์ จ.นครพนม

วัตถุประสงค์

1. ศึกษาชนิดของปลวกเลี้ยงเห็ดโคนและชนิดของเห็ดโคนในป่ายางพารา

2. ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชนิดของปลวกเลี้ยงเห็ดโคนที่อยู่ในกลุ่มปลวกเลี้ยงราและชนิดของเห็ดโคนในป่ายางพาราอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

3. ศึกษากิ่งหรือใบยางพาราที่เป็นพืชอาหารของปลวกเลี้ยงเห็ดโคนในบริเวณที่พบเห็ดโคน

วิเคราะห์

ที่อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม มีเห็ดโคนงอกในสวนยางพาราจำนวนมาก ช่วงเดือนมถุนายนถึงกันยายน จึงสนใจศึกษา “ชนิดของปลวก” ที่เป็นปัจจัยให้เกิดการงอกของ “เห็ดโคน”

การทดลอง  สุ่มเลือกสวนยางพาราเก็บข้อมูลปลวกและเห็ดโคน (ทำได้ในช่วงที่มีเห็ดโคน)  นำสปอร์เห็ดมาเพาะเลี้ยงบนอาหาร  (ไม่แน่ใจว่าจะได้ความรู้อะไร เพราะที่ทราบ ราของดินปลวกมีสารอาหารสำหรับเห็ดโคน)

 สรุป แนะนำให้ปรับปรุงข้อเสนอโครงงาน เพราะเสี่ยงมากหากไม่มีเห็ดโคน   ยังมีความรู้ไม่พอสำหรับการทำงานครั้งนี้ให้สำเร็จ คงต้องสืบค้นข้อมูลเพิ่ม   และส่งข้อเสนอโครงงานที่แก้ไขภายในวันที่ 27 กค. 2555

——————————————————————–

 7. เปรียบเทียบ ต้นทุน ผลผลิต และกำไรของเห็ดเศรษฐกิจที่เพาะโดยใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา (PJR197)

ครูที่ปรึกษา นางสุจิตรา ผลธุระ

โรงเรียน หนองบัวพิทยาคาร จ.หนองบัวลำภู

วัตถุประสงค์

เพื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโต ผลผลิต และต้นทุนการผลิต จากการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ โดยใช้ขี่เลื่อยไม้ยางพารา

วิเคราะห์

โครงการนี้สนใจศึกษา ผลการใช้ “ขี้เลื่อยยางพารา” เป็นวัสดุเพาะสำหรับเห็ดเศรษฐกิจ (เห็ดขอนขาว เห็ดหูหนู เห็ดเข็มทอง และเห็ดนารม)  ต่อ “ผลผลิตและต้นทุน” การเพาะเห็ด

คำถามเชิงบริบท ทำไมจึงเลือกเห็ด 4 ชนิด เหล่านี้ มันมีความหมายอย่างไร ต่อผู้ทำ โรงเรียน และชุมชน  ผู้เพาะเห็ดเขามีปัญหาอะไรบ้าง

คำถามขั้วตรงข้าม ทำไม ไม่เลือกศึกษาเห็ดฟาง เห็ดนาฟ้า หรืออื่น ๆ  หรือทั้งหมดที่ขายในตลาดสดหรือศูนย์การค้า

คำถามเชิงความรู้ ปัจจุบันเขาผลิตเห็ดได้ที่ผลผลิตเท่าใด ต้นทุนเท่าใด แล้วเป้าหมายที่เราจะทำจะให้ผลผลิตสูงกว่าเท่าใด ต้นทุนต่ำกว่าเท่าใด  อะไรคือปัจจัยที่คุมปัจจัยทั้งสอง คาดว่า การใช้ขี้เลื่อยยางพาราทดแทนอย่างเดียวคงไม่ได้คำตอบ  คงต้องพยายามหาข้อมูลเพิ่ม

สรุป แนะนำให้ปรับปรุงข้อเสนอโครงงานตามความเห็นข้างต้น  และส่งข้อเสนอโครงงานที่แก้ไขภายในวันที่ 27 กค. 2555

——————————————————————–

8. การเพาะเห็ดก้อนด้วยขี้เลื่อยยางพารา (PJR246)

ครูที่ปรึกษา นางฉวีวรรณ ศิริวงศ์

โรงเรียน แม่ต๋ำวิทยา จ.เชียงราย

วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาการทำก้อนเชื้อเห็ดขอนขาว เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า จากขี้เลื่อยยางพารา

2. เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเจริญเติบโตของเห็ดแต่ละชนิด ในก้อนเชื้อเห็ดยางพารา

วิเคราะห์

โครงการนี้สนใจจะใช้ “ขี้เลื่อยยางพารา” ทำ “ก้อนเชื้อเพาะเห็ด” สำหรับเห็ดขอนขาว เห็ดนางรม เห็ดนาฟ้า (คำถาม เห็ดเหล่านี้มีความหมายอย่างไรต่อวิถีชีวิตของผู้ทำ จึงสนใจ)

ต้องสืบค้นข้อมูล ให้เข้าใจนิสัยของเห็ดแต่ละชนิด ว่าเขาชอบอะไร ก่อน จึงจะกำหนดสูตรของวัสดุเพาะได้ (วัสดุเพาะที่เราทำ แตกต่างจากที่เขาทำอะไรบ้าง มีประโยชน์และดีกว่าอย่างไร)

จะเก็บข้อมูลอย่างไร จึงจะทำให้ผู้อ่านเชื่อว่าถูกต้องและยอมรับในข้อมูล โดยแก้ปัญหาความชำนาญในการเพาะของเด็ก และได้ความสัมพันธ์ “ขี้เลื่อยไม้ยางพารา” กับ “ผลผลิต” และ “ต้นทุน”

สรุป แนะนำให้ปรับปรุงข้อเสนอโครงงานตามความเห็นข้างต้น  และส่งข้อเสนอโครงงานที่แก้ไขภายในวันที่ 27 กค. 2555

——————————————————————–

 9. การเพาะเห็ดฟางด้วยอัตราส่วนของขี้เลื่อยยางพาราและวัสดุในท้องถิ่น (PJR283)

ครูที่ปรึกษา นางสาวพัชราภรณ์ คำซาว

โรงเรียน หางดงรัฐราษฎร์อุปถัมภ์

วัตถุประสงค์

เพื่อเปรียบเทียบผลผลิตเห็ดฟางโดยใช้อัตราส่วนของขี้เลื่อยยางพาราและอาหารเสริมจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีในท้องถิ่นที่ต่างชนิดกัน

วิเคราะห์

มีการบริภาค “เห็ดฟาง” มากถึงร้อยละ 70 มีผลงานยุววิจัยยางพาราสกว. ปี 2552 แสดงให้เห็นว่า สามารถเพาะเห็ดฟางด้วยขี้เลื่อยยางพารา ใบยางพาราผสมฟางข้าว และใบยางผสมเปลือกข้าวโพด

จึงสนใจ   1.จะศึกษาความต้องการบริโภคเห็ดฟาง ในจังหวัดเชียงใหม่  (อาจจะงานมากเกินไป ลดเป็นพื้นที่อำเภอหางดง โดยเก็บข้อมูลจากพ่อค้าขายส่ง และสอบถามจากครอบครัวของนักเรียนในโรงเรียน)

2.จะหา “สูตรขี้เลื่อย+ผักตบชวา(ทำไมจึงเลือกผักตบชวา)” กับ  “อัตราการเจริญเติบโตของเห็ดฟาง”, “ผลผลิตเห็ดฟาง”  “ต้นทุนการผลิต”โดยทดลอง 3 ซ้ำ ในโรงเพาะที่ควบคุมอุณหภูมิ และความชื้น (แนะนำให้ผลิตวัสดุเพาะ แล้วนำไปให้ผู้เพาะเห็ดฟางช่วยเพาะให้ นักเรียนเพียงแต่วัดผลผลิต ก็จะได้ผลวิจัยที่เชื่อถือได้)

แนะนำ เพิ่มเปรียบเทียบผล กับงานวิจัยของผู้อื่นที่ทำมาแล้ว

สรุป แนะนำให้ปรับปรุงข้อเสนอโครงงานตามความเห็นข้างต้น  และส่งข้อเสนอโครงงานที่แก้ไขภายในวันที่ 27 กค. 2555

——————————————————————–

ใส่ความเห็น